"Easterlies" refers to winds that blow from east to west. In this Easterlies series of articles, we handpick unique perspectives from literature on management and leadership from both the West and the East and curate them into easily digestible, three-minute articles that bring you inspiration on these important topics.
การมองให้เห็นช้างทั้งตัว: พลังของทักษะการประสานมุมมอง (Perspective Coordination Skill)

April 7, 2025

เรื่องคนตาบอดคลำช้าง
คุณเคยได้ยินนิทานอินเดียโบราณเรื่อง "คนตาบอดคลำช้าง" หรือไม่? มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนตาบอดหกคนจากหมู่บ้านหนึ่งที่ยืนอยู่ต่อหน้าช้าง พวกเขาไม่รู้จักว่าช้างคืออะไร และเนื่องจากพวกเขาตาบอด พวกเขาจึงไม่รู้เลยว่าสัตว์ที่อยู่ตรงหน้าพวกเขามีลักษณะอย่างไร
พวกเขาเอื้อมมือออกไปโดยแต่ละคนสัมผัสส่วนที่แตกต่างกันและพูดเกี่ยวกับความเห็นของตน คนหนึ่งแตะท้องช้างแล้วพูดด้วยความมั่นใจว่า
"นี่เหมือนจะเป็นกำแพง เพราะมันทั้งแข็งแรงและทนทาน"
อีกคนหนึ่งเอามือแตะจมูกช้างแล้วค้านว่า
"ไม่ใช่ นี่มันงูตัวยาวที่ดิ้นขยุกขยิกต่างหาก"
พวกเขาต่างเชื่อว่าประสาทสัมผัสและประสบการณ์ของตนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความขัดแย้งเมื่อพวกเขาไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ว่าวัตถุตรงหน้าพวกเขามีลักษณะอย่างไร
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ทุกคนต่างสร้าง "ความจริง" ของตัวเองขึ้นมาโดยอิงจากประสบการณ์และการรับรู้ของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ของแต่ละคนเป็นความจริงสำหรับคนๆ นั้น อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงนั้นอาจไม่ใช่ "ข้อเท็จจริง" *1
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากนิทานเรื่องนี้? ในบทความนี้ เราจะมาลองคิดถึงมุมมองของพวกเรากันเถอะ
Section 1: โลกที่ถูกปรับแต่งให้เข้ากับแต่ละบุคคล
บทความของ Easterlies ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง "ความหลากหลายทางปัญญา" และ "ความขัดแย้งทางปัญญา" ในบทความนั้น เราได้นำเสนอคำพูดของ Mitsunori Ishida ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยาชาวญี่ปุ่น ดังนี้
"ที่ญี่ปุ่น แม้ว่าผู้คนจะได้ยินความเห็นที่แตกต่างไปจากตนเอง แต่พวกเขามักจะหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็น โดยพูดว่า 'ทุกคนแตกต่างกัน'"
คำพูดนี้แสดงให้เห็นว่า ความหลากหลายในสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันได้สร้างสถานการณ์ที่ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงที่จะข้องเกี่ยวกับความคิดเห็นและค่านิยมที่ต่างจากตน บางทีพวกเราที่ใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้อาจลังเลที่จะ "เข้าไปมีส่วนร่วม" ในความสัมพันธ์ *2
นอกจากนี้ ยังมีการชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มนี้อาจเพิ่มสูงขึ้นจากบริการออนไลน์ที่เราใช้เป็นประจำทุกวัน นักเขียนชื่อ Eli Pariser กล่าวว่า เรามีแนวโน้มที่จะรับเฉพาะข้อมูลที่คุ้นเคย โดยอิงตามความสนใจและความเชื่อของเรา ตัวอย่างเช่น การแนะนำสินค้าโดยอิงจากประวัติการซื้อของ Amazon, Feeds ใน SNS และ APP ข่าวที่นำเสนอบทความที่ถูกคัดเลือกให้เข้ากับความสนใจของแต่ละบุคคล บริการออนไลน์เหล่านี้มีการปรับแต่งและให้ข้อมูลที่เหมาะและเฉพาะกับแต่ละบุคคล การเข้าถึงข้อมูลที่ผ่านการปรับแต่งเช่นนี้อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Filter bubble" *3
Filter bubble คือปรากฏการณ์ที่ข้อมูลจะถูกกรองตามความสนใจและความชอบของผู้ใช้ โดยจำกัดโอกาสที่จะได้เห็นมุมมองและความคิดเห็นที่แตกต่าง สิ่งนี้สร้างความหวั่นวิตกว่า จะเป็นการลดโอกาสในการเปิดรับมุมมองและวิธีคิดที่แตกต่างของผู้อื่น ส่งผลให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะจมอยู่แต่ในโลกของตัวเองมากขึ้น
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราแต่ละคนรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าเราด้วยมุมมองที่ปิด สร้าง "ความจริง" ของตัวเอง และขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกของผู้อื่น?
อันที่จริง เนื้อเรื่องในนิทานอินเดียอาจกำลังเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราอยู่ก็เป็นได้ *4
Section 2: ปัญหาในสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โลกในยุคปัจจุบันได้รับการขนานนามว่าเป็นยุค VUCA มานานแล้ว และยิ่งมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากที่มีค่านิยมแตกต่างกัน จึงทำให้ไม่เห็นความชัดเจนว่าปัญหาคืออะไร และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน *5
ปัญหาที่เราเผชิญในชีวิตประจำวันและในองค์กรก็มีความซับซ้อนเช่นกัน ปัญหาต่างๆ ถูกกำหนดขึ้นจากมุมมองของใคร จะหาแนวทางแก้ไขเพื่อใคร และจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ไม่มีคำตอบที่ง่ายสำหรับคำถามเหล่านี้ นอกจากนี้ ประสบการณ์และการตีความของผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังเข้ามาเป็นปัจจัยในการกำหนดปัญหาอีกด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะต้องตัดสินใจร่วมกันว่า บทสรุปแบบใดจึงจะดีหรือเหมาะสมกับเรามากที่สุด
ในกรณีเช่นนี้ การคิดและตัดสินใจโดยใช้แค่ข้อมูลที่ปรับแต่งมาเพื่อคุณโดยเฉพาะอาจทำให้ปัญหาร้ายแรงขึ้นและอาจถึงขั้นทำลายความสัมพันธ์ได้ เพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้ เราจำเป็นต้องมีการสื่อสารโต้ตอบระหว่างโลกของแต่ละบุคคล จากนั้น บูรณาการข้อมูลที่ได้มา และให้ข้อมูลเหล่านั้นนำพาไปสู่คำตอบใหม่ๆ
Section 3 คุณค่าของทักษะการประสานมุมมอง
การบูรณาการข้อมูล และให้ข้อมูลเหล่านั้นนำพาไปสู่คำตอบใหม่ๆ หมายความว่าอย่างไร และเราจำเป็นต้องมีทักษะอะไรบ้างในฐานะผู้นำ?
มีแนวคิดที่เรียกว่า "ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)" บุคคลที่มีความเห็นอกเห็นใจสูงคือ"ผู้ที่สามารถเข้าใจบริบทเบื้องหลังการกระทำและพฤติกรรมของผู้อื่นได้" *6 แนวคิดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่กล่าวถึงใน Section 2
แล้วทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นในการแสดงความเห็นอกเห็นใจ?
มีเรื่องหนึ่งที่อาจเป็นคำใบ้ให้กับคำตอบของคำถามนี้ได้ นั่นคือทักษะที่เกี่ยวกับมุมมองที่นำเสนอโดย Theo Dawson ผู้ก่อตั้ง Lectica ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการวัดผลตาม "ทฤษฎีทักษะไดนามิก" ของ Dr. Kurt Fischer *7 เธอกล่าวว่า ทักษะนี้เป็นหนึ่งในความสามารถที่ขาดไม่ได้ในโลก VUCA
Theo Dawson เสนอ 3 ทักษะที่เกี่ยวกับมุมมอง ได้แก่ "ทักษะการแสวงหามุมมอง (Perspective seeking skill)", "ทักษะการเปิดรับมุมมอง (Perspective taking skill)" และ "ทักษะการประสานมุมมอง (Perspective coordination skill)" ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานสองมุมมองข้างต้นเข้าด้วยกัน
"ทักษะการแสวงหามุมมอง" เป็นทักษะในการแสวงหาข้อมูลและไอเดียโดยเริ่มจากตัวเอง ส่วน "ทักษะการเปิดรับมุมมอง" เป็นทักษะในการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือการจินตนาการว่าตนเองอยู่ในจุดที่อีกฝ่ายยืนอยู่ เพื่อให้เข้าใจมุมมองหรือสถานการณ์ของคนๆ นั้นได้ดียิ่งขึ้น
หากจะเปรียบเทียบกับนิทานอินเดียที่กล่าวในตอนต้น "ทักษะการแสวงหามุมมอง" หมายถึงการที่แต่ละคนสัมผัสช้างแล้วพยายามที่จะรู้ว่าคนอื่นๆ คิดอย่างไร ในขณะที่ "ทักษะการเปิดรับมุมมอง" หมายถึงการจินตนาการถึงมุมมองของผู้อื่นจากข้อมูลที่ได้
ในนิทานเรื่องนี้ ชาวบ้านเกิดการทะเลาะกันเนื่องจากความจริงที่ต่างกันในแต่ละคน แต่จริงๆ แล้ว (มีทฤษฎีต่างๆ มากมายว่ากันว่า) เรื่องนี้มีภาคต่อด้วย ในภาคต่อนั้น พวกเขาตระหนักว่าพวกเขากำลังสัมผัสส่วนต่างๆ ของ "ช้าง" ตัวเดียวกัน
ทักษะที่นำมาใช้ในที่นี้คือ "ทักษะการประสานงานมุมมอง" นั่นเอง
นี่คือทักษะที่ไม่เพียงแค่พยายามเข้าใจมุมมองของผู้อื่นและคิดจากจุดที่ผู้อื่นยืนอยู่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างสรรค์ไอเดียร่วมกันด้วย นับเป็นชุดทักษะแบบไดนามิกที่เคารพมุมมองของผู้อื่น, ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์, ช่วยเปิดใจให้กว้าง, สร้างและต่อยอดไอเดีย, ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้ง และช่วยสนับสนุนความสัมพันธ์ที่ดี
แทนที่จะมองสิ่งรอบตัวโดยยังอยู่ในโลกที่ปรับแต่งมาเพื่อคุณโดยเฉพาะ แต่จงมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ดังที่ Dawson ได้กล่าวไว้ นอกจาก "ทักษะการแสวงหามุมมอง" และ "ทักษะการเปิดรับมุมมอง" แล้ว "ทักษะการประสานมุมมอง" ก็อาจเป็นทัศนคติและทักษะที่จำเป็นในขณะนี้
-
ครั้งสุดท้ายที่คุณทำการ Update วิธีคิดของคุณครั้งใหญ่คือเมื่อไหร่?
-
คุณต้องการสร้างไอเดียใหม่ๆ ร่วมกับใคร?
【Reference]】
*1 Taylor, P., “ The Cloud, The Elephant and The Blind Men ”, Forbes, 2014.
*2 The power of “intellectual diversity” and “intellectual conflict” to generate innovation , Hello, Coaching!, Easterlies, 13 December 2023
*3 Nguyen, Tien, Hui, Pik-Mai, Harper, Franklin, Terveen, Loren, Konstan, Joseph. “Exploring the filter bubble: The effect of using recommendation systems on content diversity.” WWW 2014 - Proceedings of the 23rd International Conference on World Wide Web. April 2014. 677-686. doi: 10.1145/2566486.2568012.
*4 Williams EF, Lieberman A., Amir O. “Perspective neglect: Inadequate perspective taking limits coordination.” Judgment and Decision Making. July 2021. doi: 10.1017/S1930297500008020.
*Regardless of profit, non-profit or intranet, secondary use such as copying, diversion, selling etc. is prohibited without permission.
Language: Japanese