Coach's VIEW

Coach's VIEW is the business column written by coaches in COACH A. It will give you some tips to utilize coaching for organizational development and leadership development through its recent coaching status, recent data related to coaching, and introduction of global publication related to coaching.


คุณยอมให้ตัวเองล้มเหลวได้หรือไม่?

คุณยอมให้ตัวเองล้มเหลวได้หรือไม่?
Send by e-mail Copy the link
Copied Copy failed

ผมมักจะได้ยินผู้บริหารที่ผมโค้ชด้วยพูดว่า การไม่ลองทำสิ่งใหม่ๆที่ท้าทาย ไม่เพียงแต่หมายถึงการหยุดอยู่กับที่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเดินถอยหลังอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารอีกจำนวนมากที่กลุ้มใจว่า พนักงานไม่กล้าทำเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อนหรือไม่กล้าเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ

"ความท้าทาย" เป็นเรื่องที่เข้าใจอยู่ในหัว
แต่ "การกระทำ" กลับไม่เกิดขึ้นตามที่คิดไว้

แล้วกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหานี้อยู่ที่ใด?

"ความท้าทาย" คืออะไร?

ตอนนี้ ผมกำลังทำโปรเจกต์ร่วมกับลูกค้า ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับ "ความท้าทาย"

นี่เป็นโปรเจกต์ที่ให้ผู้นำระดับสูงของแต่ละองค์กรสร้าง Dialogue กับผู้ใต้บังคับบัญชาผ่านการโค้ช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ จากพนักงานแต่ละคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงาน

เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับ "ความท้าทาย" ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผมจึงได้พูดคุยกับ Coach ของผู้นำแต่ละท่านในโปรเจกต์นี้ว่าสำหรับเขาแต่ละคนแล้ว คำว่า "ความท้าทาย" หมายถึงอะไร

จากการพูดคุย ทำให้ผมสังเกตเห็นว่า ถึงแม้ Coach แต่ละคนจะพูดคุยมากมายเกี่ยวกับคำจำกัดความของคำว่า "ความท้าทาย" และความท้าทายของผู้ที่เขาโค้ชด้วย แต่เขากลับไม่ค่อยมีความคิดเห็นมากนักเมื่อเป็นเรื่อง "ความท้าทายของตัวเอง"

แม้แต่ตัวผมเองรู้สึกว่าวงจรความคิดจะหยุดไปชั่วครู่เมื่อคิดถึงความท้าทายของตัวเอง ผมลองค้นหาความหมายของ "ความท้าทาย" ในพจนานุกรม และพบความหมายที่กล่าวไว้ว่า

  1. การประลองการต่อสู้หรือการแข่งขัน
  2. การเผชิญกับเรื่องที่ยากหรือความท้าทายใหม่ๆ

เมื่อคิดอีกที คำนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า ต้องเตรียมใจเป็นพิเศษในการเผชิญหน้ากับมัน

เมื่อคำว่า "ความท้าทาย" มาอยู่ตรงหน้า คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในหัวของเรา?

"การขีดเส้น" จากความคิดของตนเอง

Isaac Lidsky ผู้เขียน "Eyes Wide Open" กล่าวใน TED ว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ ดังต่อไปนี้

  • เอาอคติของตนเข้ามา
  • คาดเดาไปเอง และด่วนสรุป
  • แสวงหาความสมบูรณ์แบบที่ไม่อาจบรรลุได้
  • คิดว่าตัวเองถูก และอีกฝ่ายผิด
  • กลัวว่าจะเกิดสิ่งที่เลวร้ายที่สุด
  • คิดและตัดสินใจไปเองว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้

ว่ากันว่าเมื่อเรานึกถึงสิ่งที่เราไม่เคยมีประสบการณ์ เราจะสร้างเรื่องราวที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ในหัวของเรา และรู้สึกวิตกกังวลและหวาดกลัวโดยไม่รู้ตัว

จากนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลนั้น เราจะเผลอสร้างขีดจำกัดให้ตัวเองด้วยการคิดว่า "ฉันทำได้ถึงแค่นี้" และเลือกทางที่ตัวเองจะจัดการได้อย่างแน่นอน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เรากำลังเหยียบเบรคที่เป็น "การขีดเส้นให้ตัวเอง" อยู่โดยไม่รู้ตัว

มุมมองของ "ผู้ท้าทาย" คืออะไร?

แล้วคนที่ "ชอบความท้าทาย" เขาคิดอะไร?

สำหรับตัวผมที่เคยอยู่ที่อเมริกาสมัยเป็นนักเรียน เมื่อผมนึกถึงคนที่ชอบความท้าทาย ผมจะนึกถึง Hideo Nomo และ Ichirou โดยอัตโนมัติ

ในตอนนั้น ผมได้รับกำลังใจอยู่เสมอจากความสำเร็จของผู้เล่นทั้งสองคนนี้ที่ย้ายมาเล่นในเมเจอร์ลีกในฐานะ "ผู้ท้าทาย"

ในระหว่างการแถลงข่าวการเกษียณตัวเองจากบทบาทนักกีฬาที่กินเวลาถึง 84 นาที Ichirou ถูกถามว่า "เรื่องที่คุณประสบความสำเร็จคืออะไร?" เขาตอบว่า "ผมไม่รู้ว่าผมประสบความสำเร็จหรือไม่" และพูดถึงการท้าทายขีดจำกัดของเขาในเมเจอร์ลีก ซึ่งเป็นมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา

"ผมคิดว่าต้องใช้ความกล้าอย่างมากสำหรับการท้าทายที่จะไปเล่นในเมเจอร์ลีก ดังนั้น ผมจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นความสำเร็จ แต่ถ้าคุณตัดสินใจว่าจะลองทำเพราะคิดว่ามันจะสำเร็จหรือจะไม่ทำเพราะคิดว่าทำไม่ได้ สุดท้ายคุณจะเสียใจภายหลัง ถ้าคุณต้องการลองทำมัน ก็แค่ลองทำดู แล้วคุณจะไม่เสียใจภายหลังไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร โดยพื้นฐานแล้ว ผมคิดว่า เราควรทำอะไรที่ตัวเองคิดว่าอยากทำดีกว่า"

ดูเหมือนว่า Ichirou จะไม่ได้เหยียบเบรคที่เป็นการขีดเส้นให้ตัวเองด้วยความคิดเช่น "ถ้าทำแล้ว จะประสบความสำเร็จหรือไม่?" แต่เขา "ลองท้าทายดูเพราะเป็นเรื่องที่อยากทำ"

ผมรู้สึกถึงสิ่งเดียวกันใน Shohei Otani นักกีฬาเบสบอลผู้ซึ่งพูดว่า "ผมอยากเก่งเบสบอลมากขึ้น" และตัดสินใจข้ามทะเลไปเล่นเบสบอลในต่างประเทศ

วิธีหลีกเลี่ยงการขีดเส้นให้ตัวเอง

"ลองท้าทายดูเพราะเป็นเรื่องที่อยากทำ"

นี่อาจกล่าวได้ว่าเป็นทางลัดที่สั้นที่สุดในการเริ่มท้าทาย แต่เราซึ่งไม่ใช่นักกีฬาชั้นเยี่ยมจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการขีดเส้นให้ตัวเอง

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณกำลังประชุมและมีความคิดเห็นแตกต่างไปจากหัวหน้าหรือผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆอย่างชัดเจน ถ้าการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปนั้น เป็นสิ่งที่ปกติคุณไม่ทำ นี่ก็ถือเป็นเรื่องท้าทายเล็กๆน้อยๆที่สามารถลองทำได้

"ถ้าฉันพูดไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น"

เมื่อความคิดเช่นนี้เริ่มต้นขึ้นมาในหัว ส่วนใหญ่ การขีดเส้นให้ตัวเองจะเริ่มทำงาน ด้วยการคิดต่อว่า "ถ้าพูดไปแล้ว คนอื่นจะมองฉันอย่างไร" "ฉันจะถูกต่อต้านอย่างไร" "ต่อให้ไม่พูดตอนนี้ เดี๋ยวก็มีจังหวะอื่นที่เหมาะสมกว่านี้แล้วค่อยพูด'' หรือ "จริงๆเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดจะดีกว่า" รู้ตัวอีกที คุณก็เสียโอกาสที่จะได้พูดความคิดเห็นออกมา

จริงๆแล้ว เมื่อเราเริ่มกังวลในสิ่งที่ไม่รู้ โอกาสในการท้าทายมากมายก็จบลงก่อนที่จะได้เริ่มต้นเสียอีก

สำหรับผม เมื่อผมเริ่ม "คิดถึงสิ่งที่ไม่รู้" ผมจะพยายามมองว่า "ถึงเวลาต่อสู้แล้ว"

และสิ่งที่คุณต่อสู้ ก็คือตัวคุณเอง

ส่วนวิธีต่อสู้ก็คือ การ "ยอมให้ตัวเองล้มเหลว"

ถ้านึกถึง "การชนะ" หรือ "จะต้องตอบสนองต่อความคาดหวังของใครบางคน"' ก็จะทำให้มองว่า "การแพ้" หรือ "ไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของใครบางคนได้" ว่าเป็นความล้มเหลว และหวาดกลัวต่อสิ่งเหล่านั้น

ในงานก่อนหน้าของผม หัวหน้าคนหนึ่งเคยบอกผมว่า "คุณไม่ควรเอาแต่ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ควรลิ้มรสความผิดหวังบ้าง'' องค์กรที่นำโดยหัวหน้าคนนั้นได้ทำสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมากมาย และมีส่วนในการพลิกฟื้นธุรกิจของบริษัท

คำพูดจากหัวหน้าในตอนนั้นช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้ผม "ยอมให้ตัวเองล้มเหลว" ได้

มันช่วยเปิดมุมมองทำให้ผมได้เห็นว่า เราสามารถเรียนรู้จากความล้มเหลวได้ และความสำเร็จนั้นมาจากความล้มเหลวที่สั่งสมมา และมุมมองนี้ช่วยให้ผมคลายเบรคที่ผมเหยียบไว้ได้

สำหรับโปรเจกต์เกี่ยวกับ "ความท้าทาย" ที่กล่าวถึงในตอนต้น มีข้อเสนอให้ใส่ "จำนวนความล้มเหลว" ให้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโปรเจกต์

เราไม่ควรมองแต่ความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังควรมองไปถึงความล้มเหลวที่สั่งสมอยู่เบื้องหลังด้วย

ผมเชื่อว่า มุมมองนี้จะช่วยให้คนคลายเบรคที่พวกเขากำลังเหยียบไว้อยู่

แล้วคุณล่ะ สามารถคลายเบรคของตัวเองและทีมได้ดีเพียงใด?


【References】

  • Isaac Lidsky, TED “What reality are you creating for yourself?”
  • Tina Seelig (ผู้เขียน), หนังสือ “What I Wish I Knew When I Was 20: A Crash Course on Making Your Place in the World” (HarperCollins), "การบรรยายแบบเข้มข้นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด", CCC Media House, 2010
  • Scilla Elworthy (ผู้เขียน), หนังสือ “Pioneering the Possible: Awakened Leadership for a World That Works” (North Atlantic Books)
  • W. Timothy Gallwey (ผู้เขียน), หนังสือ “The Inner Game of Golf: Revised Edition” (Random House)
  • Robert Kegan & Lisa Laskow Lahey (ผู้เขียน), หนังสือ “Immunity to Change: How to Overcome it and Unlock the Potential in Yourself and Your Organization” (Harvard Business Review Press)

*Regardless of profit, non-profit or intranet, secondary use such as copying, diversion, selling etc. is prohibited without permission.

Language: Japanese

Please feel free to contact us regarding organizational coaching, organizational research or global resources development

Read More Articles

Send by e-mail Copy the link
Copied Copy failed