Global Coaching Watch เป็นบทความที่นำเสนอเทรนด์และหัวข้อจาก Coach ที่ต่างๆ ทั่วโลก ผ่านการแปลจากบทความต้นฉบับ
วิธีกำจัดนิสัยที่คิดไปเองว่า "ฉันรู้อยู่แล้ว"
July 9, 2024
ฉันมีเพื่อนสองคนที่ชอบขัดจังหวะเวลาฉันพูด และพยายามพูดสรุปประเด็นที่ฉันพูดอยู่เสมอ นั่นไม่เพียงแต่เป็นนิสัยที่ทำให้ฉันหงุดหงิดเท่านั้น แต่สิ่งที่พวกเขาพูดส่วนใหญ่ยังผิดอีกด้วย
พวกเขาอาจมีจุดประสงค์ใดๆที่ทำให้สมองของพวกเขาทำงานในลักษณะเช่นนั้น หรือพวกเขาอาจทำไปเพราะความวิตกกังวล หรือบางทีพวกเขาอาจแค่หัวไวเกินไป แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพื่อนทั้งสองคนต่างก็ไม่มีใครฟังฉันเลย และพวกเขาก็ไม่สามารถอ่านใจฉันได้ ไม่ว่าพวกเขาจะคิดว่ารู้จักฉันดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ฟังสิ่งที่ฉันพูดจนจบ พวกเขาก็ไม่มีทางรู้ว่าฉันต้องการอะไรหรือมองสิ่งต่างๆอย่างไร
การคิดไปเองว่าเรารู้ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไรหรือมองเห็นสิ่งต่างๆอย่างไร เป็นนิสัยไม่ดีที่พบบ่อยในหมู่ Coach และผู้นำ แม้ว่าคุณจะไม่มีนิสัยขัดจังหวะตอนคนอื่นพูด แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณรู้สิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะพูดอยู่แล้ว สิ่งที่คุณคิดไปเองนั้นส่วนใหญ่มักจะผิด และแม้ว่าคุณจะเห็นภาพรวมทั้งหมด แต่คุณก็ไม่สามารถเห็นไปถึงรายละเอียดที่สำคัญได้ และถ้าเป็นเช่นนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็อาจจจะไม่ได้ตอบโจทย์ความปรารถนาที่อีกฝ่ายมีอยู่จริงได้
การคิดไปเองว่าเรา "เข้าใจ" และรู้ว่าอีกฝ่ายพยายามจะพูดหรือต้องการอะไร จะทำให้เราละเลยกระบวนการฟังอย่างตั้งใจเพื่อให้เข้าใจว่าอีกฝ่ายต้องการอะไรจริงๆ และสิ่งนี้อาจทำลายความสัมพันธ์ของคุณกับอีกฝ่าย ศาสตราจารย์ Steven Rose ซึ่งเป็นนักประสาทชีววิทยาและผู้เขียนหนังสือ The Future of the Brain (2005) ได้ชี้ให้เห็นผ่านการเขียนในหนังสือของเขาว่า การมองสภาพปัจจุบันของสมองเหมือนเป็นภาพ Snapshot ซึ่งจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ถ้าเราไม่รู้ประวัติและสิ่งที่คนๆหนึ่งเคยพบเจอมาตลอดชีวิตทั้งหมดของเขา รวมถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมในช่วงที่เขาอยู่ในวัยเจริญเติบโต
การคิดไปเองอาจเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งได้
การคิดไปเองว่า "เข้าใจ" บางครั้งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งภายในทีมได้ แม้คุณจะคิดว่า มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและทุกคนเข้าใจตรงกันแล้ว แต่ในความเป็นจริง ความเข้าใจของแต่ละคนเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขที่พยายามนำไปปรับใช้อาจแตกต่างกันไป การทำงานร่วมกันจะได้ผลก็ต่อเมื่อทุกคนมีวิสัยทัศน์เดียวกันที่ชัดเจนและเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับเป้าหมายที่พวกเขาต้องการทำให้สำเร็จ มิเช่นนั้น ความคิดเห็นเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายและการจัดสรรทรัพยากรก็จะไม่ตรงกัน ทำให้ท้ายที่สุด เมื่อทุกคนมารวมตัวกัน แต่ละคนก็จะแค่รายงานความคืบหน้าของตน และเมื่อออกจากห้องประชุมไป ก็จะกลายเป็นกลุ่มคนที่เอาแต่บ่นแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับอีกฝ่าย
ในการประชุมแบบ 1 on 1 ถ้าไม่มีการตกลงเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในความหมายของคำที่พูด สิ่งที่เรียกร้องขอให้ทำ (Request) และผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการ ผู้นำจะดำเนินการประชุมไปในทิศทางที่ขัดแย้งกับความต้องการของผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของพวกเขาได้ และสุดท้าย ทุกคนก็จะรู้สึกว่า อีกฝ่ายไม่เข้าใจตน
ในแต่ละครั้งระหว่างการโค้ช Coach จำเป็นต้องพูดคุยและตกลงกับผู้รับการโค้ช (Coachee) ตั้งแต่ช่วงเริ่มการสานเสวนา เพื่อกำหนดให้ชัดเจนและให้เกิดความเข้าใจว่า Coachee ต้องการเปลี่ยนแปลงหรือทำสิ่งใดให้สำเร็จ เพื่อลดการคิดหรือเข้าใจไปเองเกี่ยวกับเป้าหมายให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้เป้าหมายที่ Coachee กำหนดในตอนแรกอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในระหว่างกระบวนการที่เขาจัดการกับอุปสรรค ดังนั้นการทำให้ Coachee มีภาพใหม่ที่ชัดเจนขึ้นว่าเขาต้องการทำอะไรให้สำเร็จหรือต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะทำให้ Coach สามารถติดตามความคืบหน้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องการบรรลุเมื่อสิ้นสุดการสานเสวนาได้ การสร้างการตกลงร่วม (Setting Agreement) คือหนึ่งในหัวข้อของความสามารถหลักในการโค้ช (Coaching Core Competency) อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับหัวข้อการสร้างการตกลงร่วมนี้อยู่บ่อยๆ ในระหว่างการโค้ช แม้ว่า Coachee จะรู้สึกดีที่ได้พูดคุยเกี่ยวกับความกลุ้มใจของเขา แต่ถ้าเป็นเพียงการคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยไม่มีการตกลงอย่างชัดเจนว่า Coachee ต้องการมุ่งไปสู่อะไร เมื่อ Coachee เจอสถานการณ์ที่คล้ายกันอีกในอนาคต เขาอาจจะลืมไปแล้วว่า เขาเคยกำหนด Action หรือวิธีการจัดการอย่างไรในตอนท้ายของ Coaching Session
ถ้าสิ่งที่ Coachee ต้องการนั้นคลุมเครือและเข้าใจยาก เช่น "ฉันอยากมีความมั่นใจมากขึ้น" หรือ "ฉันอยากมีแรงใจที่จะทำบางสิ่งมากขึ้นเมื่อตื่นนอนตอนเช้า'' Coach ก็จำเป็นต้องถามว่า "คำว่า 'ความมั่นใจ' หรือ 'การมีแรงใจ' หมายถึงอะไรในทางรูปธรรม และการมีสิ่งนั้น จะทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงไป" การนำเสนอภาพ Image ที่ชัดเจนในลักษณะนี้ และยืนยันว่า นี่เป็นผลลัพธ์ที่ Coachee ต้องการหรือไม่ เป็นการทำการตกลงระหว่าง Coach และ Coachee ที่กำจัดการคิดไปเองของทั้งสองฝ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากนั้น Coach จะได้สามารถโฟกัสไปที่สิ่งที่ต้องแก้ไขเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์นี้
สหพันธ์โค้ชนานาชาติ หรือ International Coaching Federation (ICF) กล่าวว่า ถ้าความต้องการของ Coachee หรือสิ่งที่เขาต้องการบรรลุภายในช่วงท้ายของชั่วโมงการโค้ชยังคงไม่ชัดเจน ไม่ว่า Coach จะทำอะไรหรืออย่างไรก็ไม่มีความหมายเพราะมันไม่ชัดเจนตั้งแต่ทิศทางในการโค้ชแล้ว หรือกล่าวได้อีกอย่างว่า การทำการตกลงกันจะเป็นการสร้างกรอบในการสานเสวนา
บางครั้งอีกฝ่ายก็คิดไปเอง
สิ่งที่เราต้องสร้างข้อตกลงร่วมไม่ใช่เรื่องของการจะทำอะไร จะตัดสินใจอะไร วางแผนอะไร หรือเข้าใจในเรื่องอะไร แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การตกลงว่า Coachee จะได้อะไรจากการทำ ตัดสินใจ หรือมีแผนนั้น ถ้า Coach และ Coachee ต่างมีความชัดเจนว่าอีกฝ่ายต้องการอะไรในผลลัพธ์สุดท้าย ก็จะทำให้ง่ายขึ้นในการตัดสินใจและวางแผนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสร้างการตกลงร่วมได้ว่า Coachee และสมาชิกในทีมต้องการอะไร ก่อนอื่นให้เริ่มต้นด้วยการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายพูดได้อย่างอิสระว่าพวกเขามองปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่อย่างไร การได้อธิบายถึงความหมายของคำแต่ละคำที่สื่อออกมานั้นจะทำให้ทั้งตัวผู้พูดและผู้ฟังได้เข้าใจสิ่งที่คิดได้ดีขึ้น ลองถามอีกฝ่ายว่า อะไรคือสิ่งที่เขาคิดว่ายังขาดแต่ต้องการทำให้ดีขึ้น หรือเพราะเหตุใดสิ่งนั้นจึงสำคัญกับพวกเขา ถ้าพวกเขาบอกว่าต้องการรู้หรือต้องการเข้าใจมากขึ้นว่า ต้องทำอย่างไรต่อ คุณสามารถถามคำถามต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้ :
[การกระทำ (Action)] ถ้าคุณตัดสินใจได้อย่างถูกต้องหรือสามารถวางแผนงานที่ตัวเองพอใจได้ คุณคิดว่าจะได้อะไรจากผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น?
[ความท้าทาย (Challenge)] คุณคิดว่า คุณจะมุ่งสู่เป้าหมายอะไรต่อไปเมื่อรู้อย่างชัดเจนแล้วว่าต้องทำอะไรเพื่อเป็นผู้นำที่เก่งขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้มากขึ้น หรือเพื่อให้มีความกระตือรือร้นในการร่วมประชุมมากขึ้น
[ความเข้าใจ (Understanding)] คุณจะได้อะไร ถ้าคุณเข้าใจสถานการณ์และสามารถเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในหัวได้?
คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้จะช่วยกำหนดไม่เพียงแต่ทิศทางของการสานเสวนาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกำหนดคำจำกัดความของ Milestone ที่ใช้วัดความคืบหน้าด้วย
ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำ Coach สมาชิกในทีม หรือเพื่อนร่วมงาน ยิ่งคุณทิ้งนิสัยคิดไปเองว่าอีกฝ่ายพยายามจะพูดหรือต้องการอะไรได้มากเท่าไหร่ ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับอีกฝ่ายก็จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ขอให้มีความสนใจใคร่รู้อยู่เสมอ และหมั่นถามตัวเองว่า คุณเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพยายามจะพูดหรือต้องการจริงๆหรือไม่ ถ้าทำเช่นนี้แล้ว อีกฝ่ายก็จะรู้สึกว่าได้รับการเอาใจใส่ ได้รับการรับฟัง และได้รับความสำคัญเช่นกัน
[เกี่ยวกับผู้เขียน]
Dr. Marcia Reynolds มีผลงานด้านการสนับสนุนการพัฒนาผู้บริหารในบริษัทต่างๆทั่วโลก ผ่านการโค้ช โดยมี Client เป็นผู้บริหารและว่าที่ผู้บริหารในอนาคตของบริษัทข้ามชาติ องค์กรไม่แสวงหากำไร และหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ เธอยังบรรยายในการประชุมเกี่ยวกับ Coaching และ Leadership ที่จัดขึ้นทั่วโลก รวมถึงโค้ชและสอนหลักสูตรสำหรับผู้นำใน 43 ประเทศ Dr. Marcia Reynolds ได้รับการจัดอันดับให้เป็น Coach ที่ดีที่สุดอันดับที่ 5 ของโลกโดย สถาบันวิจัย Global Guru และเป็นหนึ่งใน 10 ของ The Circle of Distinction ที่ได้รับเลือกโดย International Coaching Federation
Dr. Marcia Reynolds ยังมีประสบการณ์การโค้ชอย่างกว้างขวางในสาขาการแพทย์ โดยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝึกอบรมที่ Healthcare Coaching Institute และโค้ชผู้นำจำนวนมากในโรงพยาบาลทั่วไป คลินิก และบริษัทยารายใหญ่เป็นเวลา 25 ปี
นอกจากนี้ เธอยังเป็นประธานระดับโลกคนที่ห้าของ International Coaching Federation (ICF) และเป็นหนึ่งใน 25 คนแรกของโลกที่ได้เป็น Coach ที่ผ่านการรับรองระดับ Master Certified Coach (MCC) ของ ICF และเธอยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาองค์กร และปริญญาโทสาขาการศึกษาและการสื่อสาร
ตัวอย่างหนังสือส่วนหนึ่งของ Dr. Marcia Reynolds ได้แก่ "Coach The Person, Not the Problem", "Outsmart Your Brain", "The Discomfort Zone: How Leaders Turn Difficult Conversations into Breakthroughs"
บทความต้นฉบับ: How to Overcome the Annoying Assumption of Knowing (บทความภาษาไทยแปลจากบทความภาษาญี่ปุ่นที่แปลจากบทความต้นฉบับที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2021 บนเว็บไซต์ CONVISIONING ของ Dr. Reynolds *ได้รับอนุญาตให้แปลแล้ว)
*Regardless of profit, non-profit or intranet, secondary use such as copying, diversion, selling etc. is prohibited without permission.
Language: Japanese