Coach's VIEW is the business column written by coaches in COACH A. It will give you some tips to utilize coaching for organizational development and leadership development through its recent coaching status, recent data related to coaching, and introduction of global publication related to coaching.
หยุดคิด เพื่อก้าวไปข้างหน้า
Copied Copy failedว่ากันว่า ปัจจุบันนี้เป็นยุค VUCA หรือยุคสมัยที่ไม่มีความแน่นอน ไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ มีข้อมูลว่า มีบริษัทมากกว่า 70% ที่ตอบว่า "มองไม่เห็นอนาคตว่าอีก 5 ปีหลังจากนี้ ธุรกิจหลักของบริษัทเราจะเป็นอย่างไร" ทำให้เห็นว่า บริษัทจำนวนมาก มองความไม่แน่นอนนี้ด้วยความกังวลใจ
วันหนึ่งในเดือนเมษายน ผมได้มีโอกาสพูดคุยแบบตัวต่อตัวกับคุณ A ซึ่งเพิ่งขึ้นรับตำแหน่งเป็นประธานของบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 40,000 คน และมียอดขายรวมทุกบริษัทในเครือสูงถึง 7 ล้านล้านเยน
"ผมอยากทำให้บริษัทเป็นแบบนี้"
"อ้างอิงจากความหมายในการมีอยู่ (Purpose) ของบริษัท ผมอยากจะอุทิศให้สังคมเช่นนี้"
ฯลฯ
ในขณะที่ผมกำลังคิดว่า เขาพูดถึงภาพในอุดมคติได้อย่างชัดเจนมาก อยู่ๆ เขาก็ถามผมว่า
"ประธานบริษัทหรือผู้บริหารที่คุณ Inagawa โค้ชอยู่ พวกเขาไม่มีเรื่องที่กังวลเลยหรือ"
ผมไม่ทราบว่า ทำไมจู่ๆคุณ A ถึงถามคำถามเช่นนี้ขึ้นมากะทันหัน แต่ตัวคุณ A ก็เพิ่งขึ้นรับตำแหน่งเป็นประธานบริษัทในเดือนเมษายน เขาอาจจะคิดหลายๆเรื่อง และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในความคิดที่ผุดขึ้นมาก็เป็นไปได้
ผมตอบจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า "ไม่มีผู้บริหารที่ไม่มีความกังวล" พร้อมกับถามต่อด้วยความสนใจว่า
"ตอนที่คุณ A มีความกังวล คุณจะเป็นอย่างไร?"
คุณ A ตอบว่า
"ผมจะตกอยู่ในภวังค์ความคิดว่า ผมจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ออกมา ผมจะต้องทำอะไรบางอย่างให้มากกว่านี้ ผมจะต้องไปข้างหน้า ไม่หยุดอยู่กับที่"
ไม่เพียงแค่คุณ A เท่านั้น เมื่อได้พูดคุยกับผู้นำหลายๆท่าน ผมรู้สึกว่า พวกเขาเหมือนถูกบีบรัด ให้"ต้องเร็วกว่านี้ ต้องแกร่งกว่านี้" เพื่อขจัดความกังวลที่เขาสร้างขึ้นมาเอง
ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร อาจจำเป็นต้องมุ่งไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง แต่หากพลังที่ขับเคลื่อนให้ไปข้างหน้า มาจากความกังวลที่เขาสร้างขึ้นมาเอง ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะทำอะไรตามความคิดของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น หรืออาจมองไม่เห็นคนรอบข้าง
ยิ่งในยุคสมัยนี้ที่ไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ ไม่ว่าใครก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกิดความกังวลได้ง่าย คำพูดของคุณ A ทำให้ผมอยากที่จะหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้นำสามารถทำได้ในยุคที่ไม่แน่นอนเช่นนี้
"วันนี้ เราได้คุยกับใครไปบ้างแล้วนะ?"
คุณ B ซึ่งเป็นลูกค้าท่านหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จาก Executive Coaching เขาเป็นกรรมการผู้บริหารของบริษัทหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ย้ายไปรับผิดชอบศูนย์การดำเนินงานขนาดใหญ่นอกกรุงโตเกียวตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วเป็นต้นมา
คุณ B เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับหน้างานมาก ถึงแม้ว่าจะยุ่งมากแค่ไหน เขาก็ใช้เวลาโค้ชกับผมเพื่อที่จะมองตัวเองได้อย่างเป็นกลาง และผมคิดว่าเขาก็ได้ประโยชน์จากการทำเช่นนั้น
ในระหว่าง Session เป็นเวลาที่เราร่วมกันหยุดคิด เพื่อตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความก้าวหน้า ได้ค้นพบมุมมองใหม่ ได้ต่อยอดเรียนรู้ และได้พัฒนาความสามารถ วันหนึ่ง คุณ B จึงเริ่มคิดว่า
"เขาสามารถที่จะหยุดเพื่อตั้งคำถามด้วยตัวเองได้หรือไม่"
จากนั้น ทุกๆวันแม้จะไม่ใช่เวลาที่นัดคุยกับโค้ช เขาก็จะจัดเวลาหลังเลิกงานประมาณ 3-5 นาที เพื่อทบทวน 1 วันที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่เขาทำคือการนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆในอย่างที่มันเป็น
"วันนี้ เราได้คุยกับใครไปบ้างแล้วนะ?"
คำถามที่คุณ B ใช้ในการมองย้อนกลับไปในแต่ละวันคือ "คนที่เขาคุยด้วยในวันนั้น"
"ผมจำรายละเอียดที่คุยกันไม่ได้ทั้งหมด แต่หากผมนึกออกว่า ผมคุยกับใคร หน้าของอีกฝ่ายก็จะลอยขึ้นมา และผมก็จะรู้สึกมีความสนใจเกี่ยวกับคู่สนทนามากขึ้น และทำให้ผมคิดต่อว่า หากคุยกับคนนี้ในครั้งต่อไป ผมจะลองปรับแบบนี้ หรือผมจะถามเรื่องอะไร นอกจากนี้ การคิดเช่นนี้ ทำให้ผมใส่ใจกับการเลือกใช้คำพูด ทำให้เข้าใจซึ่งกันและกันได้มากขึ้น"
ผมคิดว่าคุณ B ได้สร้างวงจรการหยุดเพื่อคิดและถามตัวเองขึ้นมา จากที่เขาสร้างนิสัยในการมองย้อนกลับไปเมื่อจบแต่ละวัน ทำให้เขาเกิดทางเลือกใหม่ในการดำเนินการครั้งถัดไป
สิ่งที่ได้รับเมื่อเราหยุดเพื่อคิด
ในหนังสือ "The Pause Principle: Step Back to Lead Forward" ของ Cavin Cashman มีตอนหนึ่งที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า "เช่นเดียวกับที่การนอนหลับเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายและจิตใจ การหยุดเพื่อคิดก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความเป็นผู้นำและนวัตกรรมเช่นกัน"
"ความสามารถในการหยุดเพื่อคิดนั้นมองเห็นได้ยากกว่าการหยุดเพื่อพักผ่อน แต่มีผลกระทบร้ายแรงมากเทียบเท่าการไม่ได้นอนหลับเลยทีเดียว การหยุดเพื่อคิด เป็นกระบวนการที่หล่อหลอมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามตราบใดที่เราต้องการสร้างและรักษา performance ที่ดีเยี่ยม"
"การหยุดเพื่อคิด" คือ การถอยออกมา 1 ก้าว โดยอาจหมายถึง ทั้งการถอยออกมาจากมุมมองของตัวเองและผู้อื่น เพื่อให้สามารถมุ่งไปข้างหน้าต่อไปได้พร้อมๆกับความถูกต้อง, การตระหนักรู้ในวัตถุประสงค์ และความทุ่มเท"
ผู้นำที่ถูกบังคับให้ต้องมุ่งไปข้างหน้า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ซับซ้อนและไม่ชัดเจน มักจะลืมหยุดเพื่อคิด เพราะมัวแต่รีบร้อนในการบรรลุเป้าหมาย หรือหมกมุ่นอยู่กับการแก้ไขปัญหาที่อยู่ตรงหน้า แต่อันที่จริงแล้ว ยิ่งในช่วงเวลาเช่นนั้น ยิ่งจำเป็นต้องหยุดเพื่อคิด ถอยออกมา 1 ก้าว เพื่อมองสถานการณ์จากมุมมองของคนนอก เพื่อพิจารณาหลายๆตัวเลือกหรืออนาคตที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถึงแม้ว่าความกังวลจะไม่หายไปทั้งหมด แต่การหยุดเพื่อมองย้อนกลับไปคิด ก็อาจช่วยคลายความกังวลได้
การคิดทบทวนสำรวจตัวเอง แตกต่างจากการพิจารณาตัวเองด้วยความรู้สึกผิด ยิ่งคนตั้งใจเผชิญหน้ากับตัวเองอย่างจริงจังมากเท่าไหร่ ยิ่งทุกข์ทรมานจากความรู้สึกผิดด้วยความคิดว่า "ทั้งที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้แท้ๆ" แต่สิ่งสำคัญ ไม่ใช่ความรู้สึกเสียใจภายหลังหรือการสารภาพบาป แต่คือการย้อนกลับไปมองความจริงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง
ผมคิดว่า การทบทวนในทุกเหตุการณ์สำคัญ เช่น ช่วงสิ้นปีหรือเมื่อจบ Project เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของช่วงเวลาที่มีการ "หยุดเพื่อคิด"
แต่หากว่าเราสามารถให้เวลากับการคิดทบทวนสำรวจตัวเองได้ทุกวันจนเป็นนิสัย สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวเราและสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้แล้วนั้น เราก็สามารถที่จะสร้างอนาคตที่แตกต่างไปได้ด้วย
เช่นนี้ ผมอยากจะฝากคำถามไว้ว่า หากเราทำสิ่งนี้ได้ แล้วพวกเราจะสามารถสร้างอนาคตแบบไหนได้บ้าง?
*Regardless of profit, non-profit or intranet, secondary use such as copying, diversion, selling etc. is prohibited without permission.
Language: Japanese