Coach's VIEW is the business column written by coaches in COACH A. It will give you some tips to utilize coaching for organizational development and leadership development through its recent coaching status, recent data related to coaching, and introduction of global publication related to coaching.
ใครจะเป็นผู้เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร?
Copied Copy failedเหตุผลประการหนึ่งที่เราทำงานในองค์กร เป็นเพราะเราสามารถทำงานใหญ่ได้มากกว่าการทำงานด้วยตัวคนเดียว การผสมผสานความสามารถของแต่ละบุคคลเข้าด้วยกัน จะทำให้สามารถแสดงประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและทำงานที่มีผลกระทบอย่างมากต่อสังคมได้ โดยมีเงื่อนไขพื้นฐานคือ จะต้องสามารถคิดและทำงานร่วมกันภายในองค์กรได้ แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขพื้นฐานเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากในความเป็นจริง
Matthew Syed ได้เขียนในหนังสือ "Rebel Ideas: The Power of Diverse Thinking" ว่า "คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติสหรัฐรายงานว่า อุบัติเหตุเครื่องบินตกมากกว่า 30 ครั้งเกิดจากการที่นักบินร่วมและลูกเรือคนอื่นๆ ไม่สามารถพูดแสดงความเห็นแก่กัปตันได้" และได้เขียนถึงเหตุการณ์หนึ่ง ดังต่อไปนี้
หลังจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในปี 1978 มีการทำวิจัยโดยใช้ Flight simulator ในงานวิจัยนั้น มีการทดลองโดยให้กัปตันแกล้งตัดสินใจผิดพลาด และผู้วิจัยจะจับเวลาจนกว่าลูกเรือจะแสดงความเห็นแก่กัปตันเกี่ยวกับคำสั่งนั้น นักจิตวิทยาที่สังเกตการณ์ปฏิกิริยาของลูกเรือในการทดลองนั้นกล่าวว่า "นักบินร่วมเลือกที่จะตายดีกว่าจะแสดงความเห็นแก่กัปตัน" (*1)
นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึง ข้อสรุปจากการวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์ 26 ชิ้น ว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางการแพทย์เกิดจากการไม่แสดงความเห็นแก่ผู้บังคับบัญชา (*1)
เหตุใดจึงเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น?
เป็นความผิดของลูกน้องหรือเปล่าที่ไม่พูดอะไร? หรือเป็นความผิดของหัวหน้าที่ไม่ปล่อยให้ลูกน้องแสดงความคิดเห็น?
เมื่อเกิดเรื่องไม่พึงประสงค์ เช่น อุบัติเหตุ การปลอมแปลง หรือการปกปิดอำพราง เรื่องเหล่านี้มักจะถูกมองว่าเป็นความรับผิดชอบของบุคคล เช่น ความรับผิดชอบของลูกน้องที่ก่อเรื่อง หรือ ความรับผิดชอบของหัวหน้าที่ปล่อยให้เรื่องนั้นเกิดขึ้น อาจเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องชี้แจงอย่างชัดเจนว่าความรับผิดชอบอยู่ที่ใด แต่นั่นไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
แต่ละองค์กรก็มีวัฒนธรรมองค์กรของตนเอง ดังนั้น จึงสามารถมองได้ว่า สาเหตุไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่วัฒนธรรมองค์กรด้วย
ทุกคนจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง
มีคำว่า "การปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กร" แต่จริงๆแล้ว วัฒนธรรมองค์กรไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากด้านบน และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้ เพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้แนวทางที่ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในกระบวนการคิดทบทวนเกี่ยวกับวัฒนธรรมซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในองค์กรนั้น
วัฒนธรรมองค์กร คือ การสะสมรวมตัวของพฤติกรรมของแต่ละคน เมื่อพิจารณาถึงสิ่งนี้แล้ว การจะปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรและพัฒนาองค์กรให้สำเร็จได้นั้น คนทุกคนในองค์กรจะต้องหันมาใส่ใจกับพฤติกรรมและการสื่อสารของตนเอง และจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง
ในหนังสือ "Dialogic Organization Development" ได้เขียนไว้ดังนี้ (*2)
"ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้การแก้ปัญหาโดยใช้เพียงแค่ประสบการณ์ในอดีตและเทคโนโลยี มีขีดจำกัด
โลกนี้มีความซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องใช้ Dialogue ในการสำรวจและทบทวนสมมติฐานและวิธีคิดของเรา และร่วมสร้างไอเดียหรือ Value ใหม่ๆกับผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารในที่ทำงานและองค์กร ทั้งการสื่อสารระหว่างพนักงานด้วยกันเอง และการสื่อสารระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา"
มีปัจจัยด้านวัฒนธรรมองค์กรหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เราคิดและทำงานร่วมกัน เช่น วัฒนธรรมที่มีคำสั่งแบบ One-direction เช่น วัฒนธรรมองค์กรแบบ Top-down, วัฒนธรรมแบบ Silo ที่มีการแบ่งปันข้อมูลและร่วมมือกับแผนกอื่นๆเพียงเล็กน้อย และวัฒนธรรมการต่อสู้แบบโดดเดี่ยวที่พนักงานคิดและพยายามทำงานให้สำเร็จด้วยตัวคนเดียว
องค์กรของคุณมีวัฒนธรรมแบบใด
และคุณต้องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรของคุณให้เป็นอย่างไร
ในบริบทนี้ การพัฒนาองค์กร จึงหมายถึง การทบทวนและเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กร
ในขณะที่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ก็สื่อได้ถึง การทบทวนและเปลี่ยนแปลงการสื่อสารรายบุคคล
สองเรื่องนี้มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และควรดำเนินไปพร้อมกัน
Dialogue กับผู้อื่น เป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
หากคิดตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร จะทำโดยที่ยังมีคนทำแบบเดิมๆไม่ได้ ทุกคน รวมถึงทีมผู้บริหาร จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือพฤติกรรม หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการสื่อสาร ปฏิกิริยาตอบสนองโดยทั่วไปอย่างหนึ่งของเราคือ "การต่อต้าน"
เมื่อเราพยายามจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะเกิดสิ่งต่างๆ เช่น การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้ง และความลังเลใจในการสื่อสารที่เกิดจากความกลัวที่จะถูกปฏิเสธ
สิ่งที่ซับซ้อน คือ แม้ว่าคุณจะต้องการเปลี่ยนแปลงบริษัทหรือต้องการให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเมื่อคุณเป็นฝ่ายที่ต้องเปลี่ยนแปลงเสียเอง ไม่ว่าใครก็จะรู้สึกต่อต้านเมื่อต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เรามักจะต่อต้านการทำสิ่งต่างๆที่แตกต่างจากที่เคยทำกันมา
การกระทำของเรา สะท้อนถึงความคิดของเราว่าการทำสิ่งนั้นมี "ความหมาย" อย่างไร และผลพวงของการกระทำนั้นส่งอิทธิพลต่ออะไรได้บ้าง กล่าวได้อีกนัยหนึ่งคือ หากเรายังมองถึงความเป็นไปได้ของสิ่งที่เราทำในรูปแบบเดิมๆ ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะทำการเปลี่ยนแปลงระดับที่ใหญ่ขึ้น อย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
แล้วเราจะให้ "ความหมายใหม่" ได้อย่างไร?
คำตอบคือ การมี Dialogue กับผู้อื่น จะช่วยทำให้เรามองย้อนกลับไปคิดทบทวนพฤติกรรม ความคิด และสมมติฐาน (Premise) ของเรา ซึ่งจะทำให้ความหมายที่เราเคยมีอยู่เปลี่ยนไป และจะส่งผลให้พฤติกรรมเปลี่ยนตามไปด้วย
แต่ต่อให้บอกว่าพฤติกรรมใหม่ๆจะเกิดขึ้น เมื่อการให้ความหมายเปลี่ยนไป แต่ในความเป็นจริง มันก็ไม่ง่ายเลยที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่พวกเขาคุ้นชินและทำมาโดยตลอด เป็นเรื่องที่ยากสำหรับทุกคน
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การมี Dialogue อย่างต่อเนื่อง จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ กราฟด้านล่างนี้ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวน Coaching session ในองค์กรและผลสำเร็จที่ผู้ได้รับการโค้ชรับรู้ จะเห็นได้ว่า การรับรู้ถึงผลสำเร็จจะเพิ่มขึ้นตามจำนวน Coaching session ที่เพิ่มขึ้น
Dialogue ผ่านการ Coach จะช่วยส่งเสริมการให้ความหมายใหม่ให้กับ "พฤติกรรม" และกระตุ้นให้ผู้คนก้าวข้ามความเสี่ยงและ "ลงมือทำ"
ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวน Coaching session และผลสำเร็จที่ผู้รับการโค้ชรับรู้ (*3)
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Coaching เป็นตัวกระตุ้นที่ทรงพลังในการพัฒนาบุคลากรและองค์กร และกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่อนาคตที่เราต้องการ
[Reference]
*1 หนังสือ “Rebel Ideas: The Power of Diverse Thinking” โดยผู้เขียน Matthew Syed ตีพิมพ์ในปี 2020
*2 หนังสือ “Dialogic Organization Development" โดยผู้เขียน Gervase R. Bushe, Robert J. Marshak
*3 ผลการสำรวจโดยสถาบันวิจัยการโค้ช
กลุ่มเป้าหมาย: Leader 545 คนและ Stakeholder 2,477 คนที่ใช้บริการของ COACH A
แบบสำรวจ: D-meter ครั้งที่ 2
ระยะเวลาการสำรวจ: July 2021-August 2022
*Regardless of profit, non-profit or intranet, secondary use such as copying, diversion, selling etc. is prohibited without permission.
Language: Japanese