Coach's VIEW

Coach's VIEW is the business column written by coaches in COACH A. It will give you some tips to utilize coaching for organizational development and leadership development through its recent coaching status, recent data related to coaching, and introduction of global publication related to coaching.


"ความสามารถในการคิดร่วมกัน" คืออะไร?

Send by e-mail Copy the link
Copied Copy failed

ในกระบวนการหนึ่งของ Executive Coaching จะมีการทำ Feedback 360 องศา โดยไม่ได้ใช้แบบสอบถามสำเร็จรูป แต่ลูกค้าแต่ละรายจะเป็นผู้สร้างแบบสอบถามในแบบฉบับของตนเอง

ประมาณสามปีที่แล้ว ตอนที่การแพร่ระบาดของ Covid-19 เพิ่งเริ่มต้นขึ้น คุณ A หัวหน้าแผนกพัฒนาของผู้ผลิตเครื่องจักรของบริษัทหนึ่งที่ฉันร่วมงานด้วยได้ตัดสินใจรวบรวม Feedback จากคนรอบข้างเพื่อพัฒนาและปรับปรุง leadership ของเขาเอง จุดประสงค์ของแบบสอบถามก็เพื่อให้รู้ว่าหลังจากนี้ไป เขาจำเป็นจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไร

ในแบบสอบถาม มีคำถามที่ถามว่า

"คุณคิดว่า ผม (คุณ A) จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นสำหรับบริษัทของเรา"

ผลปรากฏว่าประมาณ 30% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่า

"ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ"
"เป็นแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดีอยู่แล้ว"

หลังตรงนั้น สีหน้าของคุณ A ก็แสดงความกังวลเล็กน้อยในระหว่าง Coaching session

"แบบนี้ ก็แย่น่ะสิ"

สภาวะที่หยุดคิด

สมาชิกในองค์กรของคุณ A ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่มี Motivation ต่ำ ในทางกลับกัน คุณ A พูดถึงพวกเขาว่าเป็นกลุ่มคนที่จริงจัง มุ่งมั่น และมีความพยายามด้วยซ้ำ

"คำตอบว่า 'ไม่มี' หรือ 'เป็นแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดีอยู่แล้ว' ฟังเผินๆก็ดูไม่ได้แย่อะไร แต่ผมเริ่มกังวลว่า พวกเขาอาจไม่ค่อยมีความรู้สึกที่อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวพวกเขาเอง ไม่ว่าจะทำงานด้วยความตั้งใจมากแค่ไหน แต่การแค่ทำตามคำสั่ง และทำงานที่ต้องทำให้เสร็จไปเพียงแค่นั้น ไม่ใช่องค์กรแบบที่ผมอยากให้เป็น"

จากคำกล่าวของคุณ A เขาตีความคำว่า "ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ" ว่ามีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 ข้อดังต่อไปนี้

  • ไม่ได้มีอะไรคัดค้านเป็นพิเศษ
  • ไม่ได้มีความสนใจอะไรเป็นพิเศษ
  • ไม่ได้คิดอะไรเป็นพิเศษ
  • ไม่อยากพูด

คุณ A กล่าวต่อไปว่า

"ผมรู้สึกว่า พวกเขากำลังอยู่ในสภาะวะที่หยุดคิด หากเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ บริษัทอาจอยู่ได้จนถึงปี 2030 แต่หลังจากนั้นคงไม่มีอนาคต"

คุณ A เป็นผู้บริหารหนุ่มที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากบริษัทลูกในเครือ ลูกน้องของเขาหลายคนอายุมากกว่าเขาเป็น 10 ปีหรือมากกว่านั้น แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น การมีตัวตนอยู่ของคุณ A ก็มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก และลูกน้องของเขาก็รู้ดีว่า หากพวกเขาทำตามความคิดของคุณ A สิ่งต่างๆ จะผ่านไปได้ด้วยดี

อย่างไรก็ตาม "ในสภาวะเช่นนี้ บริษัทจะสามารถบุกเบิกหนทางที่นำไปสู่อนาคตได้หรือไม่?" นั่นคือความกังวลที่เกิดขึ้นเมื่อคุณ A เห็นผลของแบบสอบถามในครั้งนี้

"ผมต้องการระดมความคิดจากทุกคน"

คำสั่งห้ามตอบว่า "ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ"

ทำอย่างไร จึงจะสามารถหลุดจากสภาวะเช่นนี้ได้? คุณ A ที่มีฉายาว่า Idea man นึกไอเดียที่น่าสนใจออกมาได้เรื่องหนึ่ง

นั่นคือการ Request กับพนักงานว่า "กรุณาอย่าตอบว่า 'ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ' " ทั้งในการตอบแบบสอบถาม, การตอบใน SNS ของบริษัท รวมถึงการตอบในที่ประชุม

จุดที่น่าสนใจคือ คุณ A ได้กล่าวต่อว่า หากพนักงานอยากตอบว่า 'ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ' ขอให้ตอบว่า 'เยี่ยมที่สุด!' แทน เนื่องจากคำว่า 'ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ' ไม่ได้เป็นคำตอบที่แสดงถึงการเห็นด้วยหรือสนับสนุนอย่างชัดเจน ดังนั้น หากพนักงานเห็นด้วย ขอให้ตอบด้วยคำว่า 'เยี่ยมที่สุด!'

ความตั้งใจของคุณ A คือ "ผมต้องการให้พนักงานมีความคิดเห็น และแสดงความคิดเห็นนั้นออกมา ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือต่อให้เขามีความคิดเห็นที่หลุดโลกแค่ไหนก็ตาม" นอกจากนี้ ยังเป็นการเรียกร้องให้ "นำเรื่องนั้นมาวางไว้บนโต๊ะและมาคิดร่วมกันเถอะ"

เมื่อ Request นี้แพร่กระจายออกไป ก็เริ่มมีคนแสดงความคิดเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนไม่ได้มีความคิดเห็นที่อยากจะแสดงออกให้ได้ถึงขนาดนั้น แต่ก็ไม่อยากที่จะพูดว่า 'เยี่ยมที่สุด!' คนเหล่านี้เริ่มที่จะแสดงความคิดเห็นทีละน้อย

คุณ A กล่าวว่า "ผมอยากคิดร่วมกับทุกคน"

การคิดร่วมกัน

William Isaac ได้เขียนในวิทยานิพนธ์หนึ่งที่ตีพิมพ์ใน "Organizational Dynamics" ดังนี้

"ไม่ว่าลำดับชั้นของความเป็นผู้นำจะอยู่ในระดับใดก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงความท้าทายที่บริษัทระดับโลกยุคปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า 'การคิดคนเดียว (thinking alone)' นั้นไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมอีกต่อไป ... มนุษย์พยายามที่จะพัฒนาความสามารถในการ 'คิดร่วมกัน (thinking together)' ในหลายๆโอกาสและสถานการณ์" (*ผู้เขียนเป็นผู้แปลด้วยตนเอง)

เราจำเป็นต้องมีความสามารถอะไรบ้างในการ "คิดร่วมกัน"?

แน่นอนว่า เพียงแค่การสื่อสารความคิดของตนเองเพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้หมายความว่าคุณกำลัง "คิดร่วมกัน" แล้วถ้าถามความคิดเห็นของอีกฝ่ายด้วยล่ะ? เพียงแค่นั้น ก็ยังไม่สามารถพูดว่าเป็น การ "คิดร่วมกัน" ได้ นอกจากนี้ แม้ว่าคุณจะเรียบเรียงความคิดในหัวได้หรือจัดลำดับความคิดได้ผ่านการพูด ก็ไม่ถือว่าเป็นการ "คิดร่วมกัน" อยู่ดี

การ "คิดร่วมกัน" หมายถึง การเกิดความเข้าใจ ความหมาย และการตีความใหม่ๆ เพื่อสิ่งที่คุณต้องการทำให้เกิดขึ้นจริงหรือเพื่อการบรรลุเป้าหมายของคุณ มันไม่ใช่การเห็นด้วยกับความคิดเห็นของใคร และไม่ใช่การพยายามยัดเยียดความคิดเห็นของคุณให้กับคนอื่น แต่เป็นการสร้างสถานที่ที่เกิดสิ่งที่เหนือความคาดหมายและความคาดหวังของทุกคน ฉันคิดว่านั่นคือการ "คิดร่วมกัน"

เพื่อที่จะทำให้การ "คิดร่วมกัน" เกิดขึ้นได้จริง เราจำเป็นต้องมีกระบวนการในการสร้างความเข้าใจ ความหมาย และการตีความใหม่ๆ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ "ความแตกต่าง" ของทุกฝ่ายปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

เป็นเรื่องง่ายที่จะพูด แต่เมื่อความแตกต่างของทั้งสองฝ่ายปรากฏขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจน มันไม่ง่ายเลยที่จะยังคงเปิดใจรับความแตกต่าง และยอมให้ความเชื่อที่ตัวเองมีมาก่อนถูกสั่นคลอน หากยังมีการโจมตีความแตกต่างของอีกฝ่าย หรือการโต้แย้งเพื่อปกป้องความเชื่อของตัวเอง ก็จะไม่สามารถ "คิดร่วมกัน" ได้

คุณ A กล่าวอย่างชัดเจนว่า

"ผมเชื่อมั่นในตัวพนักงานของผมว่าพวกเขามีไอเดียดีๆอยู่"

คุณ A ทำให้พนักงานแต่ละคนคิดว่า "ฉันมีคุณค่าพอที่จะแสดงความคิดเห็น" ผ่าน Request ที่เล่าไปข้างต้น ฉันรู้สึกว่า นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญ และเป็นความสามารถที่จำเป็นในการ "คิดร่วมกัน"

วิธีการของคุณ A คือ Top down แต่แม้วิธีการอาจจะถูกสั่งลงมาจากด้านบน แต่ความคิดเห็นถูกส่งขึ้นไปจากด้านล่าง

ปกติแล้ว พวกเราได้บอกลูกน้องบ่อยแค่ไหนว่า "ฉันอยากฟังความคิดเห็นของคุณ คุณมีคุณค่าพอที่จะแสดงความคิดเห็น"?

ถ้าเราสามารถคิดร่วมกันและระดมความคิดได้โดยไม่คำนึงถึงลำดับชั้นสูง-ต่ำในหน้าที่การงาน เราจะมีพลังได้มากขนาดไหน? เพียงแค่จินตนาการ ก็รู้สึกตื่นเต้นแล้วไม่ใช่หรือ?


[Reference]
William N. Isaacs, "Taking flight: Dialogue, collective thinking, and organizational learning", Autumn 1993, Organizational Dynamics, Volume 22, Issue 2, Pages 24-39

*Regardless of profit, non-profit or intranet, secondary use such as copying, diversion, selling etc. is prohibited without permission.

Language: Japanese

Please feel free to contact us regarding organizational coaching, organizational research or global resources development

Read More Articles

Send by e-mail Copy the link
Copied Copy failed